รู้เรื่องค่าธรรมเนียมและภาษีซื้อขายบ้าน

ค่าธรรมเนียมและภาษี ถือเป็นหนึ่งค่าใช้จ่ายหลักที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้าน คอนโด ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ แต่ผู้ซื้อหลายคนมักมองข้ามความสำคัญในส่วนนี้ไป จนกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น จนทำให้การซื้อขายอสังหาฯ บ้าน คอนโด ขาดทุน หลังเสียค่าธรรมเนียมและภาษีไปแล้ว แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักกับราคาประเมินและราคาซื้อขายกันก่อนค่ะ ราคาประเมินและราคาซื้อขาย คือ ราคาที่จะนำไปคำนวณค่าธรรมเนียมและภาษีซื้อขายบ้าน คอนโด ที่ดิน ที่ผู้ขายและผู้ซื้อจะต้องจ่าย นอกจากค่าธรรมเนียมและภาษีซื้อขายบ้าน คอนโด ที่ดินผู้ขายจำเป็นต้องเสีย ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยคิดจากราคาประเมินและปีที่ถือครอง 

ความหมายของ "ราคาประเมิน"

ราคาประเมิน คือ ราคาที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นราคากลางของอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคิดค่าธรรมเนียมและภาษีจาการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ โดยจะมีการปรับราคาประเมินใหม่ทั่วประเทศทุกๆ 4 ปี ซึ่งราคาประเมินอาจจะสูงหรือต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วราคาประเมินจะต่ำกว่า

ความหมายของ "ราคาตลาด"

คือ ราคาที่ใช้ในการซื้อขายจริง ณ ขณะนั้น ซึ่งจะสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาดในแต่ละช่วงเวลา มีการปรับตัวตามภาวะค่าครองชีพและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นราคาตลาดจึงมักสูงกว่าราคาประเมินที่รัฐบาลกำหนด

Capital Gain

คราวนี้เรามาดูเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนที่ผู้ขายต้องจ่าย ประกอบไปด้วย 4 รายการ ได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าอากร ภาษีเงินได้ และภาษีธุรกิจเฉพาะ มาทำความรู้จักกันไปทีละส่วนกันค่ะ

1. ค่าธรรมเนียม 2%

ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอัตราร้อยละ 2 จากราคาประเมิน ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นหรือการลดหย่อนใด ๆ และเพื่อความยุติธรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมักนิยมแบ่งค่าธรรมเนียมส่วนนี้ให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบคนละครึ่งคือ ผู้ซื้อค่าธรรมเนียมชำระร้อยละ 1 และผู้ขายชำระค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 เท่าๆ กันโดยให้ระบุในสัญญาจะซื้อจะขาย

2. ค่าอากร 0.5%

ค่าอากรแสตมป์ที่ผู้ขายต้องเสียในขั้นตอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ พิจารณาจากราคาประเมินและราคาตลาดร่วมกันโดยเลือกใช้ราคาที่สูงกว่ามาคำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 เท่ากับว่าผู้ขายจะเสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกๆ 200 บาท โดยผู้ขายจะเป็นฝ่ายชำระฝ่ายเดียว และจะได้รับยกเว้นค่าอากรต่อเมื่อต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%

ผู้ขายที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 5 ปี จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.3 จากราคาประเมินหรือราคาตลาดขึ้นอยู่กับว่าราคาใดสูงกว่า อย่างไรก็ตามมีการยกเว้นเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีที่ผู้ขายครอบครองอสังหาฯ นานเกิน 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนานกว่า 1 ปี ถูกเวนคืนบ้านหรือที่ดิน หรือเป็นอสังหาฯ ที่ได้มาโดยมรดก

4. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

เมื่อเกิดการขายอสังหาริมทรัพย์จะนับเป็นรายได้แก่ผู้ขาย จึงต้องนำมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ดังนั้นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ผู้ขายจึงต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบเองทั้งหมด ภาษีเงินได้จะพิจารณาจากราคาประเมินและจำนวนปีที่ถือครอง จำนวนปีที่ถือครองนั้นจะนับตามปีบัญชี โดยหนึ่งปีจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนถึง 31 ธันวาคมของปีเดียวกัน การซื้อขายภายในปีเดียวกันนับเป็นการถือครอง 1 ปี หากครอบครองตั้งแต่เดือนธันวาคมปีนี้ถึงมีนาคมปีหน้าก็ให้นับเป็นถือครอง 2 ปี

5. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

กรณีที่ผู้ขายเป็นนิติบุคคลจะไม่ใช้การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามวิธีการข้างต้น แต่ให้คิดภาษีในอัตราร้อยละ 1 ของราคาตลาดหรือราคาประเมินขึ้นอยู่กับราคาใดสูงกว่า และไม่นำจำนวนปีที่ถือครองเข้ามาพิจารณาคำนวณภาษีแต่อย่างใด



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

5 อัญมณี มหาเฮง เสริมฮวงจุ้ยบ้าน

บูชาพระประจำวันเกิด รับปี 2563

คอนโดเลือกแบบไหน อยู่แล้วเฮงสุด